วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การปลูกฝรั่ง


การปลูกฝรั่ง


ฝรั่งเป็นไม้ผลที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตและการดำรงชีพของเกษตรกรไทย มาเป็นเวลานานจนถึงทุกวันนี้ เป็นไม้ผลขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่มีอายุการให้ผลผลิตเร็ว ออกดอกติดผลง่าย นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ คือ ผลฝรั่งอุดมไปด้วย วิตามินซี แคลเซียม และเหล็ก ในปริมาณสูง และยังมีเยื่อใยสูง หากบริโภคทุกวันจะช่วยแก้ปัญหาระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี จึงจัดเป็นผลไม้อนามัยอย่างแท้จริง สำหรับแหล่งปลูกฝรั่งที่สำคัญในประเทศไทยจะนิยมปลูกในเขตภาคกลางตอนล่าง คือเขตอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม


ฝรั่งเป็นไม้ผลที่ปรับตัวและเจริญได้ดีทั้งในเขตร้อนและกึ่งร้อน การเลือกสภาพพื้นที่หรือการเตรียมพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมควรพิจารณาดังนี้
1. ระดับน้ำใต้ดิน สภาพพื้นที่ไม่ควรอยู่ในสภาพน้ำท่วมขังหน้าดิน (ระดับน้ำใต้ดินตื้น) เพราะฝรั่งมีรากตื้นและแผ่กระจายในระดับความลึกจากผิวหน้าดินลงไปประมาณ 20 เซนติเมตร หากน้ำขังจะทำให้รากอ่อนแอง่ายต่อการเข้าทำลายของโรคและตายได้ง่าย ควรทำการยกร่องในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง
2. ดิน ฝรั่งเจริญได้ในดินทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูก คือดินร่วนทรายเหนียว ฝรั่งสามารถทนต่อความเป็นกรดและด่างในช่วงกว้างตั้งแต่ ค่าพีเอช 4.5-8.2 คือตั้งแต่ดินเป็นกรดไปจนถึงดินด่าง แต่ในสภาพปลูกเพื่อการค้าควรปรับปรุงดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่างประมาณ 5.5-6.5
3. อุณหภูมิและระดับความสูง ฝรั่งสามารถปลูกได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงความสูง 1500 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่อุณหภูมิไม่ควรต่ำมาก เพราะสภาพอุณหภูมิต่ำจะไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของฝรั่ง ดังนั้นการปลูกในทางการค้าจึงไม่ค่อยจะเหมาะสมต่อการปลูกบนที่สูง
4. ปริมาณน้ำฝนและแหล่งน้ำ ควรมีแหล่งน้ำเพียงพอในช่วงการออกดอกและการเจริญของผล หรือมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000-2,000 มิลลิเมตร/ปี
พันธุ์


ฝรั่งกินสดที่นิยมปลูกในปัจจุบันมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
* นักวิชาการเกษตร ฝ่ายขยายพันธุ์พืชและสัตว์
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่
1) พันธุ์กลมสาลี่ เป็นฝรั่งที่ได้จากการนำต้นฝรั่ง (เพาะเมล็ด) จากเวียดนามมาปลูก แล้วกลายพันธุ์ได้พันธุ์ที่มีลักษณะแตกต่างกันจำนวน 5 พันธุ์ คือ กลมสาลี่ กลมอัมพร กลมทูลเกล้า ขาวบุญสม และขาวนิยม แต่มีเพียงกลมสาลี่ที่เกษตรกรยังนิยมปลูกในปัจจุบัน ลักษณะโดยทั่วไป ต้นมีการเจริญเติบโตดี ทรงพุ่มเตี้ยแผ่กว้าง ใบค่อนข้างยาวรี อายุให้ผลหลังปลูกเร็ว ติดผลดก ผลกลมแป้น ผิวเขียวอมเหลือง ขนาดผลปานกลาง รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อหนาละเอียดแน่นกรอบ สีขาว มีเมล็ดปานกลาง ผลที่แก่สามารถปล่อยผลไว้บนต้นได้นาน เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมาก
2. พันธุ์เย็น 2 เป็นพันธุ์ที่คาดว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด และมีการสันนิษฐานกันว่าได้จากการผสมข้ามตามธรรมชาติระหว่างกลมสาลี่และกลมทูลเกล้า เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มค่อนข้างสูงตั้งกว่ากลมสาลี่ ต้นมีการเจริญเติบโตเร็ว ใบมีลักษณะเรียวยาว และมีสีเขียวเข้มกว่ากลมสาลี่ ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ (ใหญ่กว่ากลมสาลี่) ผิวผลขรุขระเล็กน้อย มีกลีบขึ้นบริเวณขั้ว เนื้อสีขาว ปริมาณเนื้อมากกว่ากลมสาลี่ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว (อมเปรี้ยวมากกว่ากลมสาลี่) เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกในระดับปานกลาง
3. พันธุ์แป้นสีทอง คาดว่ากลายพันธุ์มาจากกลมสาลี่ มีทรงพุ่มเตี้ย กิ่งค่อนข้างเลื้อย ทอดขนานไปกับพื้น โดยจะสังเกตได้ชัดหลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 1 ปี ใบมีสีเขียวเข้ม เรียวยาวและขนาดแผ่นใบใหญ่กว่ากลมสาลี่ ผลกลมแป้นใหญ่ ขั้วใหญ่ หัวบุ๋ม ผิวผลขรุขระเล็กน้อย มีกลีบขึ้นบริเวณขั้ว เนื้อหนาละเอียดมาก แน่นและกรอบ มีเมล็ดน้อย รสชาติหวานกรอบ ติดผลดก สามารถให้ผลที่มีน้ำหนักมากที่สุด ตั้งแต่ 1-2 กิโลกรัม
อายุการออกดอกติดผลหลังการปลูกด้วยกิ่งตอนประมาณ 4-6 เดือน ข้อเสียของฝรั่งพันธุ์นี้ คือ หลังการเก็บเกี่ยวผิวเปลือกผลมักแสดงอาการเหี่ยวย่นได้ง่าย เมื่อเก็บรักษาไว้ประมาณ 2-3 วัน ที่อุณหภูมิห้อง เป็นฝรั่งที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการมาก และเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกมากที่สุดในปัจจุบัน (2540-2541)
การขยายพันธุ์ วิธีการขยายพันธุ์ที่ไม่ทำให้ฝรั่งกลายพันธุ์ และเป็นที่นิยมของเกษตรกรมีอยู่ 2 วิธีการคือ
- การตอนกิ่ง โดยใช้วิธีการตอนแบบควั่นกิ่ง ซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้
1. เลือกกิ่งที่มีสีเขียวปนน้ำตาลความยาวประมาณ 30-40 ซม. โดยเลือกกิ่งกระโดงหรือกิ่งยอดที่สมบูรณ์ เป็นกิ่งที่อยู่แนวตั้งไม่มีโรค แมลงรบกวนและเลือกตอนจากต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว
2. ควั่นกิ่งยาวประมาณ 1 นิ้ว ลอกเปลือกออก และขูดเนื้อเยื่อเจริญจากบนลงล่าง
3.นำดินมาพอกบริเวณแผลด้านบนให้รอบกิ่ง แล้วนำกาบมะพร้าวมาหุ้มรอบดินและใช้ถุงพลาสติกหุ้มทับอีกชั้น โดยใช้เชือกมัดให้แน่น หากไม่ใช่ดินหุ้มอาจใช้ขุยมะพร้าว แช่น้ำบิดให้หมาด ๆ แล้วอัดลงในถุงพลาสติกขนาดเล็ก ผูกปากถุงให้แน่น ผ่าตุ้มตามความยาวนำไปหุ้มรอยควั่นให้มิด แล้วมัดด้วยเชือกให้แน่น
4. ประมาณ 1 เดือน จะออกราก เมื่อเกิดรากสีขาวกระจายทั่วตุ้มตอน ก็สามารถตัดไปชำในถุงปลูกและใช้ขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุปลูก โดยชำในโรงอบพลาสติกที่มีการพรางแสงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาชำประมาณ 2 สัปดาห์ก็นำไปปลูกได้
- การปักชำกิ่ง วิธีการปักชำที่ประสบผลสำเร็จ มีอยู่ 2 วิธีการ คือ
1. การปักชำกิ่งอ่อนในแปลงพ่นหมอก การขยายพันธุ์แบบนี้เหมาะสำหรับทำเป็นการค้าโดยเฉพาะการขายกิ่งพันธุ์ ซึ่งจำเป็นต้องลงทุน ทำแปลงพ่นหมอกกลางแจ้ง โดยใช้ปั๊มน้ำหอยโข่ง สูบน้ำไปตามท่อ และขับแรงดันน้ำไปออกที่หัวพ่นฝอย สำหรับขั้นตอนในการปักชำมีดังต่อไปนี้
1.1 คัดเลือกกิ่งยอดสีเขียว ใบเป็นใบเพสลาด ใบไม่แก่ เพราะใบแก่เมื่อนำมาชำจะร่วงง่าย กิ่งควรเป็นกิ่งสมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลง ความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร การตัดกิ่งเพื่อปักชำควรตัดกิ่งในเวลาเย็น
1.2 ริดใบบริเวณโคนกิ่งออก 3 คู่ แล้วตัดโคนกิ่งเป็นรูปปากฉลามนำกิ่งพันธุ์ บริเวณโคนกิ่งจุ่มลงในสารเร่งราก ซึ่งเตรียมโดยใช้ฮอร์โมนไอบีเอ (รูทโกร หรือเซอราดิกซ์เบอร์ 1) ผสมน้ำ 1 เท่าตัว จุ่มกิ่งในสารเร่งรากนานประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วนำกิ่งขึ้นผึ่งให้แห้ง
1.3 นำกิ่งลงปักชำในขี้เถ้าแกลบที่บรรจุในถุงพลาสติก ขนาด 6x7 นิ้ว นำไปวางเรียงในแปลงพ่นหมอก
1.4 ตั้งเวลาพ่นน้ำ (พ่นหมอก) ในตอนกลางวัน ในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น พ่นนานประมาณ 20 วินาที ทุก 1 นาที กรณีแดดร้อนจัดอาจพ่นน้ำตลอดเวลาทั้งวัน ส่วนในตอนกลางคืน ถ้าอากาศไม่ร้อนมากก็ไม่จำเป็นต้องพ่นน้ำ หากอากาศค่อนข้างร้อนควรตั้งเวลาพ่นน้ำทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง กรณีปักชำในฤดูร้อนควรพรางแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ด้วย ตาข่ายพรางแสง (สแรน)
1.5 ประมาณ 1 เดือน หลังการปักชำ ฝรั่งจะออกราก ซึ่งพบว่าการปักชำวิธีนี้จะมีการออกรากประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จึงจำเป็นต้องคัดกิ่งที่ไม่ออกรากออกโดยหยุดให้น้ำ 2 วัน ต้นที่ไม่ ออกรากจะเหี่ยวจึงทำการคัดทิ้งออกไป
1.6 นำกิ่งที่ออกรากดีแล้ว ไปเลี้ยงในเรือนเพาะชำรอการปลูกหรือจำหน่ายต่อไป
2. การปักชำกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์ใน ปริมาณไม่มากนัก ซึ่งมีขั้นตอนในการปฏิบัติดังต่อไปนี้
2.1 เลือกกิ่งฝรั่งที่เป็นกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ สีน้ำตาลอมเขียว มีใบติดประมาณ 4 ใบ ถ้าเป็นกิ่งยอดและมียอดอ่อน ให้ปลิดทิ้ง ตัดกิ่งยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ตัดโคนกิ่งเฉียง 45 องศา
2.2 กรีดโคนกิ่งเป็นแนวขนานยาวครึ่งนิ้ว ประมาณ 3-4 รอย รอบกิ่ง นำโคนกิ่งไปจุ่มลงในสารเร่งรากไอบีเอ (เซอราดิกซ์ เบอร์ 3)
2.3 นำกิ่งไปปักชำในกะบะพลาสติกขนาดเล็ก ที่ใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 เป็นวัสดุชำ หรืออาจใช้ถุงปลูก ขนาด 6x7 นิ้ว บรรจุวัสดุปลูกแล้วนำกิ่งลงปักชำ รดนำให้ชุ่ม นำไปใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงวางไว้ในที่ร่มรำไร พรางแสงประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์
2.4 ประมาณ 30 วัน กิ่งปักชำจะเกิดราก รอจนรากเจริญเติบโตดี จึงเปิดปากถุงนำไปเลี้ยงในเรือนเพาะชำจนแข็งแรงดี ก็สามารถนำไปปลูกได้
การปลูก



ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับฝรั่งคือระยะระหว่างต้น 2 เมตร และระหว่างแถว 2.5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 320 ต้น การปลูกอาจปลูกแถวคู่สลับฟันปลา โดยใช้แทรคเตอร์พรวนยกเป็นร่องแปลงสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร สันแปลงกว้าง 4 เมตร ความยาวแปลงขวางตะวันตามขนาดพื้นที่ ระหว่างแปลงขุดร่องระบายน้ำกว้าง 50 เซนติเมตร ก่อนปลูกนำปุ๋ยคอกเก่า และโดโลไมท์หรือปูนมาร์ลมาใส่ในแปลงแล้วพรวนให้เข้ากัน แล้วจึงนำกิ่งฝรั่งลงปลูก โดยขุดหลุมขนาดเล็กไม่ควรฝังกิ่งลึกมาก กรณีที่ดอนถ้าไม่ยกแปลงก็ควรยกโคกแล้วปลูกฝรั่งบนโคก ทั้งนี้เพื่อช่วยการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังที่ระบบราก หลังปลูกควรใช้ไม้ปักโคนต้นแล้วใช้เชือกผูกยึดต้นกับหลัก เพื่อป้องกันลมพัด ทำให้กิ่งโยกคลอน ฤดูที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกคือฤดูฝน
- การปลูกในระบบผสมผสาน
ฝรั่งมีความเหมาะสมมากในการปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน โดยปลูกร่วมกับไม้ผลหลัก ซึ่งยังไม่ให้ผลผลิต หรืออาจแบ่งพื้นที่สวนเพียงเล็กน้อยจากสัดส่วนเนื้อที่สวนไม้ผลหลักทั้งหมดมาปลูกฝรั่ง ซึ่งอาจใช้พื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ ข้อดีของฝรั่งคือ เจริญเติบโตง่ายให้ผลผลิตเร็ว และให้ผลมากกว่า 1 รุ่น ในรอบ 1 ปี สามารถบังคับการออกดอกติดผลได้ง่าย ในขณะที่ไม้ผลยืนต้นที่เราปลูกเป็นไม้ผลหลักนั้น การออกดอกจะขึ้นกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญเช่นลำไย หากอุณหภูมิต่ำไม่เพียงพอและไม่ยาวนานก็อาจไม่ออกดอกได้ แต่การแบ่งพื้นที่ปลูกไม้ผลขนาดเล็ก เช่น ฝรั่งเพียง 1 ไร่ ไว้ในสวนก็สามารถจะมีรายได้ทดแทนไม้ผลหลัก ช่วยลดความเสี่ยงของการประกอบอาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี สำหรับกรณีที่ไม้ผลหลักยังเล็กอยู่ คือยังไม่ให้ผลผลิตและทรงพุ่มมีขนาดเล็ก ก็สามารถปลูกฝรั่งแซมระหว่างต้นได้เลย ในช่วง 1-4 ปีแรก ที่ไม้ผลหลักยังไม่ให้ผลผลิต เราก็จะมีรายได้จากการขายผลฝรั่ง อย่างไรก็ตามมีข้อพิจารณาในการปลูกแซมที่ควรคำนึงถึงคือ เราไม่ควรปลูกแซมระหว่างแถว กรณีที่มีการใช้รถแทรคเตอร์วิ่งปฏิบัติงานระหว่างแถวปลูกเพื่อการดูแลรักษาต่างๆ เช่น พ่นยากำจัดวัชพืช นอกจากนี้เมื่อไม้ผลหลักให้ผลและมีทรงพุ่มใหญ่มากจนฝรั่งไม่ได้รับแสงแดดเพียงพอ ก็ควรจะโค่นต้นฝรั่งออกเสีย อย่างไรก็ตามรายได้จากฝรั่งในช่วง 1-5 ปีแรก ของการปลูกไม้ผลหลักก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว
การจัดทรงพุ่ม



เป้าหมายสำคัญในการจัดทรงพุ่ม ก็เพียงสร้างกิ่งโครงสร้าง ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง และสร้างความพร้อมในการออกดอก ความสม่ำเสมอในการให้ผลผลิต และป้องกันการระบาดของโรค ขั้นตอนการจัดทรงพุ่มเริ่มตั้งแต่หลังการปลูกควรตัดปลายยอดกิ่งออกเล็กน้อยเพื่อช่วยกระตุ้นให้มีการแตกกิ่งแขนง และเลือกกิ่งแขนงที่แตกจากลำต้นหลักไว้ จำนวน 3 กิ่ง โดยเลือกกิ่งสมบูรณ์ มุมกิ่งกว้าง สูงจากพื้นประมาณ 30-40 เซนติเมตร และแต่ละกิ่งห่างกันพอประมาณ กิ่งชุดนี้ถือเป็นกิ่งชุดที่ 2 เมื่อกิ่งชุดนี้เจริญเติบโตจนยาวมากกว่า 30 เซนติเมตรเล็กน้อย มีเปลือกสีน้ำตาลอมเขียวก็ทำการตัดกิ่งชุด 2 ทั้ง 3 กิ่งนี้ ให้เหลือความยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร (1 ไม้บรรทัด) จากนั้นกิ่งชุด 2 แต่ละกิ่งก็จะมีการแตกตาข้างได้กิ่งใหม่ (ชุด 3) ให้คัดเลือกกิ่งแขนงชุดใหม่ ในแต่ละกิ่งไว้ 4 กิ่ง รวมเป็นกิ่งแขนงย่อยทั้งหมด 12 กิ่ง ที่พร้อมจะให้ดอก และปี ต่อ ๆ ไป ก็ปฏิบัติเช่นเดิม แต่ให้เลือกกิ่งแขนงไว้ทั้งหมด 24 กิ่ง และควรตัดแต่งควบคุมความสูงของทรงพุ่มไม่ให้เกิน 1.5 เมตรและความกว้างของทรงพุ่มไม่เกิน 2 เมตร
นอกจากการตัดแต่งเพื่อจัดทรงพุ่ม ก็ควรมีการตัดแต่งภายในทรงพุ่ม โดยตัดแต่งกิ่งแขนงขนาดเล็กที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งไขว้ กิ่งเป็นโรค โดยยึดหลักตัดแต่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งขึ้นเพื่อให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึงช่วยลดการระบาดของโรค

การออกดอกและการบังคับดอก



การออกดอก ฝรั่งมีนิสัยในการเกิดดอกบริเวณตาข้างตรงซอกก้านใบของกิ่งที่เจริญขึ้นมาใหม่ในฤดูกาลนั้น ๆ โดยกิ่งที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับการออกดอกของฝรั่งแป้นสีทองจะมีความยาวประมาณ 45-50 เซนติเมตร และมีใบแก่จำนวน 14-16 ใบ (7-8 คู่) และมักแทงช่อดอกหรือกิ่งช่อดอกในตำแหน่งคู่ใบที่ 3-6 (นับจากโคนกิ่งขึ้นไปหาปลายยอด) ซึ่งขึ้นกับความสมบูรณ์ของกิ่ง หากสมบูรณ์มากก็อาจแทงช่อดอกที่คู่ใบที่ 2 ได้ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกช่อ สำหรับดอกช่อจะมีดอกย่อย 3 ดอก
ดอกกลางมีขนาดใหญ่สุดและมีดอกย่อยขนาดเล็ก 2 ดอกขนาบด้านข้าง ดอกกลางจะบานก่อนและเป็นดอกที่ติดผลเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ฝรั่งยังเกิดดอกในลักษณะกิ่งช่อดอก คือ แตกตาข้างออกมาเป็นยอดอ่อนยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร และเกิดดอกที่ตาข้างหรือปลายยอดของยอดอ่อนนี้อีกที
โดยทั่วไปฝรั่งมีการออกดอก ตามปกติปีละประมาณ 2-3 ครั้ง โดยทะยอยออกในกิ่งที่มีความสมบูรณ์ คือชุดแรกออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม แล้วผลแก่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งดอกชุดนี้เป็นชุดที่มีการติดผลมากที่สุด ส่วนชุดที่ 2 จะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และผลแก่ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน อย่างไรก็ตามหากดอกชุดนี้บานในช่วงฝนตกหนักจะมีการติดของผลที่น้อยลง สำหรับอายุเริ่มให้ดอกของฝรั่งที่ปลูกจากกิ่งตอนโดยทั่วไปใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี หลังการปลูก เช่น ฝรั่งแป้นสีทองจะเริ่มออกดอกให้ผลหลังจากปลูก ได้ประมาณ 4-6 เดือน แต่การไว้ผลทันทีก็อาจทำให้ต้นทรุดโทรมได้ง่าย โดยทั่วไปควรเริ่มไว้ผลเมื่อมีอายุหลังปลูกได้ 7-8 เดือนขึ้นไป
เนื่องจากฝรั่งมีนิสัยการออกดอกจากกิ่งที่เจริญขึ้นใหม่ในฤดูกาลนั้น ๆ การบังคับการออกดอกจึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ฝรั่งมีการแตกกิ่งใหม่ ซึ่งมีอยู่หลายวิธีการ เช่น การใช้สารเคมีเพื่อทำให้ใบร่วง การงดการให้น้ำเป็นระยะเวลานาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการที่ทำให้ต้นโทรมทั้งสิ้น การพิจารณาถึงกรรมวิธีในการบังคับการออกดอกจึงควรยึดหลักที่ไม่ทรมานและทำให้ต้นฝรั่งทรุดโทรม ซึ่งวิธีการที่เหมาะสมควรเป็นการตัดแต่งกิ่งร่วมกับการโน้มกิ่งและการงดการให้น้ำในระยะเวลาสั้น ๆ โดยมีเป้าหมายบังคับให้ฝรั่งออกดอกอย่างสม่ำเสมอปีละ 2 รุ่น ซึ่งใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มกระตุ้นการออกดอกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 รุ่น หมดประมาณ 9-10 เดือน และเวลาพักต้นประมาณ 2 เดือน การบังคับการออกดอกควรคำนวนช่วงเวลาเก็บผลผลิตให้อยู่ในช่วงที่ไม่มีผลไม้ตามฤดูกาลปกติมาก (พ.ค.-ก.ค.) ดังนั้นควรบังคับการออกดอกเพื่อให้เก็บผลได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ฝรั่งมีราคาดี

ขั้นตอนในการบังคับการออกดอกของฝรั่ง
(เป็นขั้นตอนเริ่มต้นตั้งแต่การจัดการทรงพุ่มฝรั่งในปีแรก)
1. ตัดแต่งกิ่งแขนงหลัก (ชุดที่ 2) จำนวน 3 กิ่ง (ดูภาพที่ 1) ในเดือนกุมภาพันธ์ (ช่วงฝรั่งออกดอกในฤดูกาลปกติ) ให้เหลือความยาว 25-30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ย 25-7-7 อัตรา 2 ขีดต่อต้นหว่านรอบโคนต้น เพื่อช่วยเร่งให้แตกกิ่งแขนงออกมา
2. เลือกกิ่งแขนงย่อย (ชุดที่ 3) ในแต่ละกิ่งของชุด 2 ไว้ จำนวน 4 กิ่ง ซึ่งจะได้กิ่งแขนงย่อยทั้งหมด 12 กิ่ง
3. ให้ปุ๋ย 8-24-24 อัตรา 100 กรัม (1 ขีด) ต่อต้น โดยการหว่านรอบโคนต้นในช่วงที่กิ่งแขนงย่อยเจริญยาวประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร
4. เมื่อกิ่งแขนงย่อย (ชุดที่ 3) มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เปลือกกิ่งมีสีเขียวอมน้ำตาล ให้ทำการโน้มกิ่ง โดยใช้ไม้รวกปัก 4 มุม ห่างจากโคนต้นประมาณ 60-70 เซนติเมตร แล้วยึดไม้รวกทั้ง 4 มุม ให้เป็นคอกสี่เหลี่ยมสูงจากพื้นดินประมาณ 80-90 เซนติเมตร (ดูภาพที่ 1) จากนั้นดึงกิ่งแขนงย่อยชุดที่ 3 (12 กิ่ง) โน้มลงมาทำมุม 45 องศากับพื้น ผูกยึดกับคอกไม้รวกให้กิ่งแผ่กระจายรอบต้น พร้อมกับงดการให้น้ำประมาณ 4-5 วัน
5. ให้น้ำทุกวันจนกระทั่งฝรั่งแทงช่อดอกออกมา (ประมาณกลางเดือนเมษายน) หลังจากดอกชุดแรกติดผล (กลาง พ.ค.) ปลายกิ่งแขนงย่อยชุด 3 ก็จะเจริญยืดยาวออกไป (กิ่งช่วงที่เจริญใหม่จะมีสีเขียว) เมื่อกิ่งเจริญยืดยาวออกไปประมาณ 30 เซนติเมตร ก็ทำการให้ปุ๋ย 8-24-24 อัตรา 100 กรัม (1 ขีด) ต่อต้นโดยการหว่านรอบโคนต้น
6. เมื่อกิ่งมีความยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร ก็งดการให้น้ำประมาณ 4-5 วัน
7. ให้น้ำตามปกติพร้อมเด็ดยอด โดยนับคู่ใบจากปลายยอดเข้ามา 3-4 คู่ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ฝรั่งแทงช่อดอกหรือกิ่งช่อดอกชุด 2 ออกมา (ต้น ส.ค.)
8. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตชุด 2 ให้ทำการพักต้นระหว่างเดือนธ.ค.-ม.ค.
9.เริ่มทำการตัดแต่งในฤดูกาลใหม่อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ โดยตัดแต่งกิ่งแขนงย่อยชุดที่ 3 ให้เหลือความยาวประมาณ 1 ฝ่ามือ (20 เซนติเมตร) และให้เลือกกิ่งแขนงที่แตกใหม่ของแต่ละกิ่งไว้ 2 กิ่ง รวมเป็นกิ่งแขนงย่อยทั้งหมด 24 กิ่ง (ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปให้ตัดแต่งและเลือกกิ่งแขนงย่อยไว้ทั้งหมด 24 กิ่ง) หลังจากนั้นให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ปฏิบัติในปีแรก
การบังคับการออกดอกของฝรั่ง (แป้นสีทอง) ด้วยวิธีดังกล่าวนี้จะใช้เวลาตั้งแต่การตัดแต่ง จนกระทั่งออกดอกประมาณ 45 วัน ถึง 2 เดือน ใช้เวลาการแทงช่อดอกของดอกชุดที่ 2 ห่างจากชุดแรกประมาณ 85-90 วัน ดอกชุดแรกจะออกประมาณกลางถึงปลายเดือนเมษายน และติดผลในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวผลได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน ส่วนดอกชุดที่ 2 จะออกประมาณต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งดอกชุดนี้จะบานในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงพอดี จึงไม่ค่อยมีปัญหาในการผสม และมีการติดผลในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม หากต้องการบังคับให้ฝรั่งออกดอกในช่วงอื่นก็สามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาต่าง ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาดังกล่าวข้างต้นไปคำนวณ การบังคับการออกดอกได้ตามต้องการ

แนวทางปฏิบัติเพื่อบังคับการออกดอกของฝรั่งในรอบปี
การไว้ผลและการห่อผล



การไว้ผลในแต่ละรุ่นของฝรั่งแป้นสีทองควรไว้ผลเพียง 1 ผล/กิ่งแขนงย่อย 1 กิ่ง หากไว้ผลมากกว่า 1 ผล จะทำให้กิ่งฉีกหักได้ง่าย เนื่องจากมีขนาดผลโต รวมทั้งเพื่อไม่ทำให้ต้นโทรมเกินไป ส่วนฝรั่งกลมสาลี่ควรไว้ผลประมาณ 2 ผล/กิ่ง หลังดอกบานประมาณ 1-2 วัน ฝรั่งจะเริ่มติดผล ซึ่งสังเกตจากดอกตัวผู้เริ่มโรยและเหี่ยวแห้ง ที่ปลายยอดเกสรตัวเมียจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หลังจากนั้นผลจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมี ขนาดเกือบเท่าผลมะนาวหรือประมาณ 4 สัปดาห์ หลังติดผล ก็ทำการห่อ ผลทันที โดยใช้ถุงหูหิ้ว ขนาดประมาณ 6x8 นิ้ว เจาะรูประมาณ 5-8 รู ห่อผล แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อทับอีกชั้น เพื่อป้องกันผลเกิดอาการแดดเผา ก่อนทำการห่อผลควรมีการพ่นยาป้องกันกำจัดรา เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์หรือเบโนมิล (เบนเลท) ประมาณ 1-2 ครั้ง เนื่องจากเชื้อราอาจติดไปกับผลหลังการห่อและทำให้ผิวผลในระยะแก่ไม่สวย

การดูแลรักษา


การให้ปุ๋ย
นอกจากให้ปุ๋ยในช่วงการบังคับการออกดอกแล้ว ก็ควรให้ปุ๋ยในช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของผลฝรั่ง ซึ่งมีอยู่ 2 ช่วง (แป้นสีทอง) คือช่วงแรกประมาณ 3-6 สัปดาห์หลังติดผล และช่วงที่ 2 ประมาณ 10-16 สัปดาห์หลังการติดผล ดังนั้นควรให้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือ 15-15-15 เมื่อติดผลได้ 7 วัน ในอัตรา 100 กรัม (1 ขีด)/ต้น โดยการหว่านรอบโคนต้น และครั้งที่ 2 ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กรัม/ต้น ในระยะที่ผลมีอายุประมาณ 60-70 วัน ในกรณีที่ต้องการเพิ่มคุณภาพด้านความหวานควร ให้ปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในระยะก่อนฝรั่งแก่ประมาณ 30 วัน หรือเมื่อผลมีอายุ ประมาณ 88-90 วัน โดยหว่านรอบโคนต้นอัตรา 10 กรัม/ต้น หลังการให้ปุ๋ยต้องรดน้ำตามทุกครั้ง การผลิตฝรั่งในรอบปี (ผลผลิต 2 รุ่น) จะมีการให้ปุ๋ยประมาณ 7-8 ครั้ง
การให้น้ำ
ในระยะเริ่มปลูกฝรั่งใหม่ ๆ ควรรดน้ำทุกวันจนกว่าจะตั้งตัวได้ สำหรับระบบให้น้ำขึ้นกับต้นทุนของผู้ปลูกเป็นสำคัญ หากปลูกในระบบการค้า ควรให้น้ำระบบมินิสปริงเกลอร์ หากต้นทุนน้อย ก็อาจให้น้ำโดยลากสายยางรด หรือแบบร่องคู ในระยะหลังการตัดแต่งกิ่ง เพื่อกระตุ้นการแตกตาข้างควรให้น้ำทุกวัน จนกระทั่งยอดเจริญออกมา ก็ทิ้งช่วงห่างของการให้น้ำเป็น 2-3 วันครั้ง ในช่วงที่มีการเจริญเติบโตของผล หากฝนไม่ตก ก็ควรให้น้ำประมาณ 2-3 วันครั้ง เช่นเดียวกัน และในระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลประมาณ 1 สัปดาห์ ควรงดการให้น้ำ ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพผลในด้านรสชาติ
โรคแมลงและการป้องกันกำจัด



โรค
1. โรคแอนแทรคโนส ปรากฎอาการที่ยอดอ่อน ใบอ่อน และผลอ่อน โดยอาการที่ยอดอ่อนจะเป็นสีดำ และแห้งตายในที่สุด อาการที่ใบอ่อนจะเกิดจุดช้ำน้ำในระยะแรกแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลใบบิดเบี้ยว ส่วนผลอ่อนแสดงอาการจุดแผลสีน้ำตาลกลมขนาดเล็ก แผลมีลักษณะนูน ตรงกลางบุ๋ม ขอบแผลขรุขระ โรคนี้มักระบาดในฤดูฝน
การป้องกันกำจัด ควรตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มให้โปร่ง กรณีมีการระบาดของโรคให้พ่นด้วย คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์หรือเบโนมิล
2. โรคเหี่ยว มักระบาดในต้นฝรั่งที่มีน้ำท่วมขังราก อาการโดยทั่วไปใบจะเริ่มเหี่ยวสลดลง หลังจากนี้จะมีอาการเหลืองแห้งและทิ้งใบร่วง จนหมดทั้งต้น หากถากเปลือกดูเนื้อไม้จะมีสีน้ำตาลดำเข้มกว่าปกติ
การป้องกันกำจัด ในกรณีแสดงอาการของโรครุนแรงควรขุดต้นไปเผาทำลาย การป้องกันควรราดโคนต้นด้วยบราสสิโคล
3. โรคผลเน่า เป็นโรคที่เกิดกับผลทั้งในระยะก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว เกิดจากเชื้อราหลายชนิด และแสดงอาการของโรคคล้ายกัน แต่ต่างกันเพียงเล็กน้อย คือมีแผลสีน้ำตาลที่ผล แผลอาจบุ๋มลงไปหรืออาจมีอาการช้ำน้ำ อาจมีสีสปอร์ของเชื้อบนแผลต่างกันตามชนิดของเชื้อ เช่น สีดำหรือสีชมพู
การป้องกันกำจัด ก่อนห่อผลและก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน ควรพ่นด้วยเบโนมิล

แมลง
1. เพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอย ระบาดทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ใบ ช่อดอกและผล หากพบว่ามีการระบาดควรฉีดพ่นด้วย มาลาไธออน หรือไวท์ออย
2. แมลงวันทอง เข้าทำลายผลโดยตัวเมียจะเจาะและวางไข่ในผล และจะฟักเป็นตัวหนอน ทำลายภายในผลในช่วงผลแก่และเริ่มสุก การป้องกันควรห่อผลในระยะที่ผลยังเล็กอยู่

การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษา
ฝรั่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนหลังการติดผล (แป้นสีทอง) และสามารถปล่อยผลไว้บนต้นได้นานกว่านี้ ผลที่เก็บเกี่ยวได้
จะมีสีเขียวอมเหลือง มีการขยายขนาดเต็มที่ โดยทั่วไปเกษตรกรมักเก็บเกี่ยวผลและบรรจุลงเข่งหรือตะกร้าพลาสติกเพื่อการขนส่ง โดยมีการคัดผล ตามขนาด และน้ำหนักของผล สำหรับฝรั่งแป้นสีทอง มักปรากฎอาการผิวผลเหี่ยวย่นง่าย ภายใน 2-3 วันหลังการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ดังนั้นไม่ควรนำถุงพลาสติกที่ห่อผลออก ส่วนกรณีส่งออกต่างประเทศ ควรห่อผลด้วยพลาสติกฟิล์มพีวีซี และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซล เซียส ซึ่งจะเก็บรักษาได้นานประมาณ 3-4 สัปดาห์









เอกสารอ้างอิง



ทองดี ณ บ้านดอน. 2535. ฝรั่งผลไม้ถูกเพื่อสุขภาพ. เคหการเกษตร 16(9) : 53-55.
นิรนาม. 2537. ไปดูฝรั่งพันธุ์แป้น ฝรั่งยักษ์คุณภาพของสามพราน. เคหการเกษตร 18(2) : 71-76.
พาวิน มะโนชัย. ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์. เอกสารประกอบการสอนวิชาเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ไม้ผล. ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (โรเนียว).
ประทีป กุณาศล. 2539. ขยายพันธุ์ไม้ผลด้วยวิธีปักชำในแปลงพ่นหมอก.
เคหการเกษตร 20 (2) : 51-56.
พิพัฒน์ เซี่ยงหลิว. 2530. โรคฝรั่ง. ฐานเกษตรกรรม 5 (49) : 63-70.
ไพศาล จงมีสุข. 2540. ฝันที่จะทำให้ฝรั่งไทยไปเมืองนอก. เคหการเกษตร
21(5) : 89-94.
วรินทร์ สุทนต์. 2541. การศึกษาการเจริญทางด้านลำต้นและการสืบพันธุ์ของฝรั่งพันธุ์แป้นสีทอง. สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการ การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (โรเนียว).
วารุณี ปรีย์มาโนช, วัลภา ธีรภาวะ และประวัติ ตันบุญเอก. 2540.ขั้นตอนการปฏิบัติการบรรจุหีบห่อฝรั่งเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา. เคหการเกษตร 21(5) : 95.
วิจิตร วังใน. 2532. การปลูกฝรั่งสำหรับแปรรูป. เคหการเกษตร 13(5) : 35-40.
สัมฤทธิ์ เพื่องจันทร์. 2536. เทคนิคน่ารู้เกี่ยวกับการผลิตฝรั่ง. เคหการเกษตร 17(1) : 22-25.
หลวงบุเรศร บำรุงการ. 2518. การทำไร่ฝรั่ง. แพร่พิทยา. กรุงเทพฯ.
95 น.
Anonymous. 1954. Guava. pp. 245-269, In cheema, G.S., S.S. Bhat and
K.C. Naik (eds.). Commercial Fruits of India with Special Reference to Western India. MacMillan and Co. Limited. Galculta.
Mattiuz, B.H., L.G. Neto and J.M.P. Lima Filho. 1997. Fruit development
of three guava cultivars (Psidium guajava L.). Acta Hort.452:83-86.
Menzel, C.M. and B.F. Paxton. 1986. The pattern of growth, flowering and fruiting of guava varieties in subtopical Queensland. Aust.
J. Exp. Agric. 26 : 123-127.
Pereira, W.E.and F.A.D’ Araujo Couto. 1997. Stem and fruit growth of
six guava tree (Psidium guajava L.) cultivars under soil water
stress conditions. Acta Hort. 452 : 87-93.
Vargas, G.A., J. Rodriguez, J. Espinoza, J.S. Cayetano and N. Vazquez.
1997. forced production of guava in mexico. Acta Hort. 452:
77-81.

ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ. เชียงใหม่ 50290
โทร. 0-53873938 , 0-53873939